Enter your keyword

การบริการวิชาการ

 เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ทางด้านวิชาชีพวิศวกรรม โดยมีความหวังว่าจะนำผลสัมฤทธิ์มาพัฒนาระบบการเรียนการสอน เพื่อที่นิสิตจะได้รับความรู้ทั้งในเชิงวิชาชีพและเชิงวิชาการไปพร้อมกัน ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อมสร้างอีกหนึ่งพันธกิจ คือ การบริการวิชาการ (Academic Service) ซึ่งโครงการต่อไปนี้เป็นเพียงบางตัวอย่างที่แสดงถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทางวิชาชีพภายนอกกับ ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ

1. เพื่อประเมินผลสะพานที่ทำการเสริมกำลังแล้ว การทดสอบในสนามที่สถานะใช้งานได้ดำเนินการเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 เพื่อเปรียบเทียบกัน การทดสอบกระทำทั้งสองช่วงสะพาน นั่นคือ สะพานที่ยังไม่เสียหายและสะพานที่เสียหายจากเพลิงไหม้แล้วถูกทำการเสริมกำลัง โดยทั้งคู่มีความยาวช่วงและลักษณะของเกอร์เดอร์สะพานที่เหมือนกัน และนี่เป็นครั้งแรกของการทดสอบโดยภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อมที่ใช้น้ำหนักบรรทุก 25 ตัน ถึง 12 คัน ต่อหนึ่งตอม่อสะพาน เนื่องจากความเร่งในการเปิดใช้สะพาน การทดสอบกระทำโดยทีมทดสอบเดียวทั้งสองช่วงสะพานในหนึ่งคืน ซึ่งเป็นงานที่หลักและท้าท้ายเป็นอย่างมาก โครงการอยู่ภายใต้การดูแลของ ดร.ภาณุวัฒน์ จ้อยกลัด

2. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.ภาณุวัฒน์ จ้อยกลัด หัวหน้าหน่วยวิจัย RiDIR คณะวิศวกรรมศาสตร์ มศว ในฐานะประธานอนุกรรมการวิศวกรรมโครงสร้างและสะพาน วสท. ได้ร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญ เข้าให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อ คณะกรรมการของ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ในกรณีอุบัติเหตุ ชิ้นงาน Precast Segment หล่นขณะติดตั้งบนถนนพระราม 2 จากเหตุการณ์ชิ้นงาน Precast Segment ของ Precast Concrete Segmental Box Girder Viaduct ของโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก สัญญาที่ 2 ของ กทพ. ได้เกิดอุบัติเหตุหล่นลงมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้ใช้ทาง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 เวลาประมาณ 16.15 น. โดยมี นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. เข้าร่วมเป็นประธานการประชุม

asv-img-25660520-th-01

3. เนื่องจากโครงสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (monorail) จะมีการเปิดการเดินรถในช่วงกลางปี 2566 นี้ เพื่อให้แน่ใจว่า สมรรถนะของโครงสร้างเป็นไปตามที่ได้รับการออกแบบไว้ จึงเกิดโครงการทดสอบน้ำหนักบรรทุกใช้งาน (service load test) ขึ้นที่โครงสร้างจริง โครงการนี้เป็นความร่วมมือของทีมบริษัทผู้ออกแบบและบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ การทดสอบได้จำลองพฤติกรรมการรับน้ำหนักบรรทุกเสมือนจริง และใช้เวลาทดสอบ 5 วัน รับผิดชอบโครงการโดย รศ.ดร.ภาณุวัฒน์ จ้อยกลัด

4. ด้วยองค์การบริหารส่วนตําบลชุมพล อําเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ประสบปัญหาเกี่ยวกับการพังทลายของดินและถนนของโครงการก่อสร้างถนนลาดยางผิวจราจรพาราแอสฟัลท์ติกคอนกรีตบริเวณสายเลียบคลองบึงป้ายสองฝั่ง ในการนี้ อบต.ชุมพล จึงมีความประสงค์ จ้างเหมาโครงการบริการวิชาชีพทางวิศวกรรมโยธาฯ ในการเจาะสํารวจดินและวิเคราะห์เสถียรภาพของดิน เพื่อตรวจสอบสาเหตุของการเกิดการพังทลายดังกล่าว รับผิดชอบโครงการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุดนิรันดร์ เพชรัตน์ และ อาจารย์ ดร.อัฐสิทธิ์ ศิริวชิราภรณ์

5. สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก หนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor, EEC) ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของชั้นดินและการปรับปรุงคุณภาพดิน ด้วยวิธี Rapid impact compaction (RIC) เพื่อที่จะแน่ใจว่า การก่อสร้างและความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างลานจอดอากาศยานเป็นไปตามหลักวิศกวรรมและตอบสนองต่อเศรษฐศาสตร์ในการดำเนินโครงการก่อสร้าง รับผิดชอบโครงการโดย รศ.ดร.สุนิติ สุภาพ

6. ภายหลังอุบัติเหตุคานสะพานกลับรถ โครงการบูรณะปรับปรุงสะพาน ทางหลวงหมายเลข ๓๕ ตอนสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนฝั่งตะวันตก – นาโคก ตอน ๒ จังหวัดสมุทรสาคร ล้มคว่ำ เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องมีการติดตั้งคานสะพานชุดใหม่ ในการนี้ ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มศว โดย รศ.ดร.สุนิติ สุภาพ ได้ทำหน้าที่เป็นสถาบันหลักในการควบคุมการตรวจสอบสภาพความสมบูรณ์ของโครงสร้างและดำเนินการทำการทดสอบน้ำหนักบรรทุก (Load Test) และเฝ้าติดตามสุขภาพของโครงสร้าง (Structural Health Monitoring) โดยในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ได้ทำการบรรยายสรุปความคืบหน้าของโครงการต่อ นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง

7. การเข้าร่วมแก้ปัญหางานด้านวิศวกรรมโครงสร้างของภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อมและภาคอุตสาหกรรมเกิดขึ้นครั้ง (2565) เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้กับสะพานทางแยกที่สร้างจากคอนกรีตอัดแรง ในครั้งนี้การเข้าสำรวจในสถานที่จริงและการวิเคราะห์พฤติกรรมโครงสร้างตามหลักไร้เชิงเส้นของวัสดุได้ใช้เป็นกุญแจสำคัญ โดยโครงการนี้มีนอกจากมีการซ่อมแซม และเสริมกำลังโครงสร้างแล้ว ยังมีดำเนินการทำการทดสอบน้ำหนักบรรทุก และการตรวจประเมินเชิงโครงสร้างในระยะยาวอีกด้วย รับผิดชอบโครงการโดย ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์ จ้อยกลัด

8. สำหรับหน่วยงานที่เสี่ยงต่อภัยก่อการร้าย การมีอยู่ของโครงสร้างต้านแรงระเบิดเป็นสิ่งจำเป็น ด้วยโจทย์ที่กล่าว ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อมได้มีโอกาสวิเคราะห์และออกแบบระบบป้องกันดังกล่าวให้กับอาคารัฐสภาแห่งใหม่ (2564) โดยโครงสร้างที่พิจารณาเป็นอาคารตรวจยานพาหนะต้องสงสัย ซึ่งประกอบด้วยส่วนของประตูเหล็กและโครงสร้างรองรับ ซึ่งการออกแบบใช้วิธีสถิตเทียบเท่าและตรวจสอบด้วยโปรแกรมไฟไนต์อิลิเมนต์ที่จำลองพฤติกรรมแบบไร้เชิงเส้นภายใต้แรงกระทำแบบชั่วครู่ (transient loading) รับผิดชอบโครงการโดย ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์ จ้อยกลัด

9. ด้วยปัญหาของการออกแบบ ที่แต่เดิมไม่สามารถสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของโครงการ รวมถึงปัญหาการนำเข้าเครื่องจักรราคาแพงจากต่างประเทศ (2564) ดังนั้นการสั่งซื้อเครื่องจักรในรูปแบบที่แตกต่างจึงมีความจำเป็น โครงการนี้เป็นการตรวจสอบการสั่นสะเทือนของฐานรากรับเครื่องจักร สำหรับการย่อยไม้เพื่อนำไปทำเป็นเชื้อเพลิง การวิเคราะห์ใช้แบบจำลองแบบทรงตัน (solid elements) ร่วมกับการวิเคราะห์เชิงพลศาสตร์ที่พิจารณาทั้งที่สถานะชั่วครู่ (transient state) และสถานะคงตัว (steady state) รับผิดชอบโครงการโดย ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์ จ้อยกลัด

10. ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อมมีส่วนช่วยภาคอุตสาหกรรมในการแก้ปัญหาในการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ (2563) เนื่องจากลักษณะของโครงสร้างมีสภาพเกินข้อจำกัดของมาตรฐานการออกแบบ ผลการวิเคราะห์สามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาเป็นย่างดี รวมถึงภาควิชายังได้ผลสัมฤทธิ์เป็นบทความทางวิชาการในระดับนานาชาติอีกด้วย โครงการนี้ รับผิดชอบโดย ดร.สุนิติ สุภาพ

11. ให้บริการให้ใน โครงการทดสอบการรับน้ำหนักบรรทุกของโครงสร้างอาคาร ในโครงการก่อสร้างอาคารที่พักของนิสิต บุคลากรทางการแพทย์และการศึกษา (ภายหลังบอกเลิกสัญญาในส่วนงานที่เหลือ) ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ เพื่อตรวจสอบความมั่งคงแข็งแรงของอาคารที่ทิ้งร้าง ก่อนทำการการก่อสร้างเพิ่มเติม ดำเนินการโดยศูนย์แห่งความยอดเยี่ยมทางวิศวกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มิถุนายน 2563 รับผิดชอบโครงการโดย ดร.สุดนิรันดร์ เพชรัตน์

12. ภายใต้ชุดโครงการวิจัยและพัฒนาทางด้านยุทโธปกรณ์และด้านหลักเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (อกวท.กห.จชต) ซึ่งจัดสรรทุนวิจัยโดย กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม โดยเป็นอีกครั้งที่ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มศว ได้ร่วมดำเนินงานวิจัย ภายใต้หัวข้อ โครงการระบบเกราะอาคารสำหรับป้องกันการโจมตีจากกระสุนปืนและลูกระเบิดจากเครื่องยิง M79 (2562) ซึ่งผลการดำเนินงานได้อาคารต้นแบบที่นำไปใช้งานในพื้นที่เสี่ยงภัยจริง ร่วมงานวิจัยโดย ดร.ภาณุวัฒน์ จ้อยกลัด

13. โครงการศึกษา (2562) “การทดสอบน้ำหนักบรรทุกของสะพานข้ามแยกบางกะปิ” เป็นโครงการต่อเนื่องที่ต้องการทดสอบเพื่อเก็บสภาพการให้บริการของสะพานข้ามแยกบางกะปิ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะสามารถนำไปเป็นส่วนในการตัดสินในเพื่อที่จะปรับปรุงสะพานข้ามแยกดังกล่าว ร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง…รับผิดชอบโครงการโดย ดร.ภาณุวัฒน์ จ้อยกลัด

academic service 2-1
academic service 2-2

14. โครงการ “การพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพย์สินภาครัฐ (พ.ศ.2561 – 2562)” ด้วยความร่วมมือกับบริษัท บิม คอนซัลท์ จำกัด เป็นการนำเสนอการประยุกต์วิทยาการของ แบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Building Information Modeling) ในการช่วยหน่วยงานของภาครัฐ (กรมธนารักษ์) ในการประเมินความคุ้มค่าของอาคารที่รัฐครอบครองหรือต้องดูแล โดยในโครงการมีการแสดงเทคโนโลยีทางวิศวกรรมที่ทันสมัย และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ผ่านการบรรยายและฝึกปฏิบัติภาคสนาม …รับผิดชอบโครงการโดย ดร.สุนิติ สุภาพ

15. โครงการศึกษา (2561) “การทดสอบน้ำหนักบรรทุกของคานคอนกรีตอัดแรงขนาดเท่าจริง” เป็นโครงการที่ดำเนินการผ่านความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อศึกษาพฤติกรรมของคานสะพานในโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยวของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายชมพู-เหลือง ของบริษัท บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยเป็นการทดสอบคานสะพานคอนกรีตอัดแรงต่อเนื่องยาว 90 เมตร ผลการศึกษาทำให้ทราบพฤติกรรมจริงและสามารถนำไปแก้ปัญหาทางเทคนิคในโครงการได้มากมาย…รับผิดชอบโครงการโดย ดร.ภาณุวัฒน์ จ้อยกลัด

16. เมื่อ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้เปิดโอกาสให้มีการเสนอทุนวิจัยอีกครั้ง ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มศว จึงได้ร่วมดำเนินงานวิจัย ภายใต้หัวข้อ “ระบบอาคารถอดประกอบอัจฉริยะ : ระยะที่ 1 ระบบผนังเบาแบบถอดประกอบที่มีค่าการนำความร้อนต่ำและสามารถป้องกันกระสุนและการถูกตรวจจับในเวลากลางคืน (2559)” ซึ่งผลการดำเนินงานนอกจากได้ผลงานตีพิมพ์ และยังได้อาคารต้นแบบที่ใช้พัฒนางานวิจัยในลำดับต่อมา โดยการร่วมงานวิจัยยังคงเป็น ดร.ภาณุวัฒน์ จ้อยกลัด

17. เมื่อ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้เปิดโอกาสให้มีการเสนอทุนวิจัย ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มศว จึงได้ร่วมดำเนินงานวิจัย ภายใต้หัวข้อ คอนกรีตประสิทธิภาพสูงสำหรับกำแพงป้องกันกระสุนและกัมมันตรังสี (2558) ซึ่งผลการดำเนินงานนอกจากได้ผลงานตีพิมพ์ และยังได้อาคารต้นแบบที่ใช้พัฒนางานวิจัยในลำดับต่อมา ร่วมงานวิจัยโดย ดร.ภาณุวัฒน์ จ้อยกลัด